วันพุธที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2555

น้ำดื่มสมุนไพร


            พุทรา เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางใบเดี่ยว ใบมีลักษณะค่อนข้างกลม กิ่งก้านมีหนาม ออกดอกเป็นช่อ ผลกลม บางชนิดเมื่อสุกจะมีรสหวาน บางชนิดก็มีรสเปรี้ยว เป็นพืชตระกูลเล็บเหยี่ยว

ส่วนผสม น้ำพุทรา
พุทรา สุกงอม 3      ถ้วยตวง
น้ำเปล่า 4      ถ้วยตวง
น้ำตาล 1      ถ้วยตวง
เกลือ 1/4      ช้อนชา

  วิธีทำ นำพุทราล้างน้ำให้สะอาด เติมน้ำลงไป แล้วนำไปต้ม  ต้มจนผลพุทราเปื่อยพอยีได้ หลังจากนั้นนำมายีให้เนื้อหลุดออกจากเมล็ด กรองเอาเมล็ดและเปลือกทิ้ง นำน้ำกับเนื้อพุทราที่กรองได้ไปตั้งไฟ เติมน้ำตาลทราย เกลือป่น แล้วชิมรสดู จะได้น้ำพุทราที่อร่อยมีรสเปรี้ยวนำ ตามด้วยรสหวาน เวลาดื่มใส่น้ำแข็ง ช่วยแก้กระหายน้ำ ทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้น  

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร
-  พุทรา  มีวิตามินซี ฟอสฟอรัส ไขมัน คัลเซียม
-  เปลือก ลำต้น  ใช้ต้มน้ำดื่ม รักษาอาการท้องร่วง
-  ราก  ต้มดื่มแก้ไข้
-  ผล  มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง
-  ผลสุก  นำมารับประทานสดๆ หรือใช้ เชื่อม กวน ทำแยม




         กระเจี๊ยบ เป็นไม้พุ่มเตี้ย แตกกิ่งก้าน ลำต้นมีสีม่วงอมแดง ใบมีสีแดงอมเขียว ขอบใบเป็นหยักๆ ออกดอกตรงง่ามกิ่ง กลีบดอกสีชมพู โคนกลีบสีแดงเข้ม

ส่วนผสม น้ำกระเจี๊ยบ
กลีบดอกกระเจี๊ยบ 3      ถ้วยตวง
น้ำ 3      ลิตร
น้ำตาล 1      กิโลกรัม
เกลือ 1/4      ช้อนชา

  วิธีทำ เตรียมกระเจี๊ยบ นำมาล้างน้ำให้สะอาด เติมน้ำแล้วนำไปต้ม (ควรเป็นหม้อเคลือบ) ประมาณ 40 นาที เนื้อกระเจี๊ยบจะเปื่อยนิ่ม สีของน้ำจะเป็นสีแดงสด จากนั้นนำไปกรองกากออก จะได้น้ำกระเจี๊ยบสด  เติมน้ำตาลทราย เกลือ นำไปตั้งไฟอีกครั้งประมาณ 3 นาที แล้วยกลง จะได้น้ำกระเจี๊ยบที่มีรสชาติเปรี้ยวหวานอร่อยดี  

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร
-  กลีบกระเจี๊ยบแดง  มีธาตุแคลเซียมสูง มีวิตามินเอ วิตามินซี กรดซิตริก ฟอสฟอรัส
-  เป็นยาระบายอ่อนๆ เป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยทำให้ปัสสาวะคล่องขึ้น ลดความดันโลหิตสูง แก้กระหายน้ำ



         กระท้อน เป็นไม้ป่ายืนต้นขนาดใหญ่ แตกกิ่งก้านสาขา ใบสีเขียว เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีแดง กิ่งอ่อนจะมีขนนุ่มๆ ดอกสีเหลืองอ่อน ขนาดเล็ก ผลดิบมีสีเขียว มียางมาก ผลสุกมีสีเหลือง เมื่อผ่าออกจะเห็นเมล็ดใน มีปุยสีขาวหุ้ม หนึ่งผลมีหลายเมล็ด  

ส่วนผสม น้ำกระท้อน
เนื้อกระท้อน 1      ถ้วยตวง
น้ำต้มสุก 1  1/2      ถ้วยตวง
น้ำเชื่อม 1      ถ้วยตวง
เกลือ 1/4      ช้อนชา

 วิธีทำ เลือกกระท้อนสุกที่มีเนื้อมาก นำมาปอกเปลือกออก ล้างให้สะอาด ฝานเป็นชิ้นเล็กๆ นำมาใส่เครื่องปั่น เติมน้ำสุก น้ำเชื่อม ใส่เกลือ ปั่นจนเนื้อกระท้อนละเอียด จะได้น้ำน้ำกระท้อนสีขาวขุ่นที่มีเนื้อกระท้อนปนอยู่ รสชาติหวานอมเปรี้ยว อร่อยชื่นใจ

 ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร -  เนื้อกระท้อน  มีวิตามินเอ วิตามินซี ฟอสฟอรัส คัลเซียม กรดอินทรีย์         มีน้ำตาล คาร์โบไฮเดรต
-  ใบสด  ใช้ต้มอาบ ช่วยขับเหงื่อในคนที่เป็นไข้
-  รากกระท้อน  ตำใส่น้ำและน้ำส้มสายชู ดื่มช่วยขับลม และแก้ท้องเดิน
-  เปลือกลำต้น  ตำทาแก้โรคผิวหนัง    


        เก๊กฮวย เป็นไม้ดอกตระกูลเดียวกับทานตะวัน ปลูกมากทางภาคเหนือ เป็นไม้ล้มลุก ลำต้นตรง ลักษณะใบเป็นรูปใข่ ปลายใบแหลม ขอบเว้า ออกดอกเป็นกระจุก ดอกสีเหลืองขนาดเล็ก นำมาตากแห้งเก็บไว้ได้นาน

 ส่วนผสม น้ำเก๊กฮวย
ดอกเก๊กฮวย 1      ถ้วยตวง
น้ำ 2      ถ้วยตวง
น้ำตาลกรวด 1/2      ถ้วยตวง

 วิธีทำ ใช้ดอกเก๊กฮวยแห้ง มาล้างให้สะอาด เติมน้ำลงในหม้อต้ม ใส่เก๊กฮวยลงในหม้อ ต้ม 2 นาที จนน้ำที่ต้มเป็นสีเหลือง แล้วนำมากรอง เอากากออก เติมน้ำตาลลงไป ต้มจนน้ำตาลละลาย จะได้น้ำเก๊กฮวยที่มีรสชาติหวานหอมชื่นใจ  

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร
-  เก๊กฮวยพันธุ์เบญจมาศหนู  มีน้ำมันหอมระเหย มีรสขม
-  ดอก  เป็นยาระงับอาการปวดศีรษะ ไข้หวัด ขับลมในลำไส้ บำรุงประสาท
-  ดอกและใบ  ต้มละลายนิ่ว
-  ใบและต้นใช้รักษาโรคผิวหนังได้
-  เก๊กฮวยพันธุ์เบญจมาศสวน  มีน้ำมันหอมระเหย มีสารฝาดสมาน
-  ดอก  ช่วยย่อยและเจริญอาหาร เป็นยาระบาย แก้กระหายน้ำ แก้อาการร้อนใน
-  ใบ  แก้ปวดศีรษะ
-  ต้น  ผสมกับพริกไทยดำรักษาโรคโกโนเรีย ถ้าสกัดเอาน้ำจากต้นสด ช่วยลดอาการอักเสบ    
       ขิง เป็นพืชล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน เป็นแง่ง มีลำต้นบนดิน มีกาบใบหุ้มกันแน่น ใบเล็กเรียว ขึ้นเป็นสองแถวสลับกัน ออกดอกเป็นช่อ สีเหลืองแกมเขียว ก้านดอกจะแทงออกมาจากแง่งของขิง ขิงอ่อนเหง้าจะเป็นสีนวล ถ้าแก่จะเป็นสีน้ำตาล

 ส่วนผสม น้ำขิง
ขิงหั่นเป็นชิ้นๆ ประมาณ 1      ถ้วยตวง
น้ำ 2      ถ้วยตวง
น้ำตาล 1/2      ถ้วยตวง
 
วิธีทำ นำขิงที่ไม่แก่มากนัก มาปอกเปลือกออก ล้างให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นๆ พอเหมาะ แล้วทุบพอแหลก เติมน้ำในหม้อต้ม ใส่ขิงที่ทุบแตกต้มประมาณ 10 นาที กรองกากขิงออก จะได้นำขิงสด  เติมน้ำตาล คนให้น้ำตาลละลาย อย่านำไปตั้งไฟอีกเพราะจะทำให้น้ำหอมระเหยออกหมด แล้วจะได้น้ำขิงสดที่มีสีเหลืองอ่อน มีรสเผ็ดเล็กน้อย หอมหวาน

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร
 -  ขิง เป็นพืชที่มีน้ำมันหอมระเหย มีฟอสฟอรัส คัลเซียม
-  ขิงแก่  แก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน เมารถ เมาเรือ โดยนำมาต้มดื่มน้ำ แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ ขับลม ช่วยย่อยอาหารจำพวกโปรตีน ใช้เป็นยาแก้ไอ
-  นอกจากนี้ ขิง ยังใช้ประกอบอาหารอีกหลายอย่าง เช่น ยำ ผัด ขิงดอง ใส่ขนมหวาน มันเทศต้ม น้ำเต้าฮวย



            ตะไคร้ เป็นพืชสวนครัว ปลูกง่าย ลำต้นเป็นเหง้าอยู่ใต้ดิน เป็นใบเดี่ยว ใบเรียวแหลม ขอบใบเรียวคม ลำต้นอยู่บนดิน กาบใบสีออกเทาเขียว หรืออมแดง ขยายพันธุ์โดยการแตกหน่อ  

ส่วนผสม น้ำตะไคร้
ตะไคร้สด 10      ต้น
น้ำ 2-3      ถ้วยตวง
น้ำตาล 1      ถ้วยตวง

 วิธีทำ นำตะไคร้ 10-20 ต้น ตัดใบออก นำมาล้างให้สะอาด ตัดเป็นท่อนๆ พอประมาณ ทุบพอแตก ใส่ในหม้อ เติมน้ำต้มให้เดือดประมาณ 5 นาที ยกลง กรองเอกากออก นำไปต้มใหม่พร้อมใส่น้ำตาล คนให้น้ำตาลละลาย ยกลงปล่อยให้เย็น จะได้น้ำตะไคร้สีเขียวอ่อนใส มีกลิ่นหอมของตะไคร้อ่อนๆ  

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร
 -  นำตะไคร้มากลั่นด้วยไอน้ำให้น้ำมันหอมระเหย ซึ่งสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของบัคเตรีได้
-  มีวิตามินเอ ฟอสฟอรัส เมนทอล
-  ตะไคร้ต้น รับประทานแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ ใช้แต่งกลิ่นอาหาร ดับกลิ่นคาว ใช้ทำเครื่องเทศต่างๆ


              แตงโม เป็นไม้เถา ก้านใบยาว ทุกส่วนมีขน ผลมีขนาดใหญ่มีหลายสายพันธุ์ ผิวสีเขียวแก่ เขียวอ่อน สีขาวนวล เนื้อในมีสีแดง สีเหลือง มีเมล็ดมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่สายพันธุ์  

ส่วนผสม น้ำแตงโม
เนื้อแตงโม 1      ถ้วยตวง
น้ำต้มสุก 1/2      ถ้วยตวง
น้ำเชื่อม 1/2      ถ้วยตวง

วิธีทำ นำแตงโมมาผ่าซีก หั่นเอาแต่เนื้อ ใส่เครื่องปั่น เติมน้ำสุก ใส่เกลือป่นเล็กน้อย ปั่นให้เข้ากัน เมื่อจะดื่มใส่น้ำแข็ง น้ำแตงโมจะมีสีแดงน่าดื่ม  

ประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพร
 -  เนื้อแตงโม  มีรสหวานเย็น รับประทานแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ขับลมในกระเพาะปัสสาวะ
-  รากและใบสด  ต้มดื่มแก้โรคท้องร่วง บิด
-  ผลอ่อน  ใช้ปรุงอาหาร ลวก จิ้ม แกง
-  เปลือกแตงโมสด ใช้แกง และยำ


http://naipui.tripod.com/juice.html

อาหารสมุนไพร


                             เมี่ยงคำ

                                                                    เมี่ยงคำ

            เมี่ยงคำเป็นอาหารที่คนภาคกลางนิยมรับประทานเป็นอาหารว่าง ในช่วงฤดูฝน เนื่องจากเป็นช่วงที่ต้นชะพลูออกใบและยอดอ่อนมากที่สุดและรสชาติดีแต่จริงๆ แล้วเมี่ยงคำสามารถรับประทานเป็นอาหารว่างได้ตลอดทั้งปี แล้วแต่ว่าจะมุ่งรับประทานเพื่อความอร่อยหรือจะรับประทานเพื่อการดูแลสุขภาพ (การปรับสมดุลธาตุในร่างกาย)

วัตุดิบในการทำเมี่ยงคำ
  1. ใบชะพลู หรือใบทองหลาง
  2. มะพร้าวหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ คั่ว
  3. หอมแดงหั่นเป็นชิ้นลูกเต๋า
  4. ขิงหั่นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า
  5. มะนาวหั่นทั้งเปลือกเป็นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า
  6. พริกขี้หนูซอย
  7. ถั่วลิสงคั่ว
  8. กุ้งแห้ง (เลือกที่เป็นชนิดจืด)
น้ำราดเมี่ยงคำ
  1. น้ำตาลปี๊บ 1 ถ้วย
  2. กะปิ (เผาเพื่อเพิ่มความหอม)
  3. น้ำปลาอย่างดี 1 ถ้วย
  4. ข่าหั่นละอียด 1 ช้อนโต๊ะ
  5. ตะไคร้หั่นฝอย 1 ช้อนโต๊ะ
  6. กุ้งแห้งโขลกละเอียด 1/4 ถ้วย
ขั้นตอนการทำ
  1. คั่วมะพร้าว ในกระทะโดยใช้ไฟอ่อน จนได้มะพร้าวคั่วที่กรอบหอม
  2. ทำน้ำราดเมี่ยงคำ โดยเริ่มจาก ตำโขลก ตะไคร้ ข่า หอมแดงเข้า และกะปิเข้าด้วยกันให้ละเอียด เคี่ยวจนน้ำราดเมี่ยงคำเริ่มเหนียว ยกลงแล้วใส่กุ้งแห้งคั่ว
  3. เคี่ยวน้ำตาลปี๊บด้วยไฟปานกลาง และเติมน้ำปลาลงไป
  4. ใส่เครื่องที่โขลกไว้ลงไป คนให้เข้ากัน
  5. อาจเสริ์ฟเป็นคำๆ โดย ห่อเครื่องต่างๆ ด้วยใบชะพลู หรือใบทองหลาง แล้วเสียบไม้จิ้มฟันเป็นคำไว้ แล้วตักน้ำราดเมี่ยงคำใส่ถ้วยแยกไว้ต่างหาก
วิธีการจัดรับประทาน           ให้จัดใบชะพลูหรือใบทองหลางใส่จานวางเครื่องปรุงอย่างละน้อยลงบนใบชะพลู หรือใบทองหลางที่จัดเรียงไว้ตักน้ำเมี่ยงหยอดห่อเป็นคำๆ รับประทาน

สรรพคุณทางยา
  1. มะพร้าว รสมันหวาน บำรุงกำลัง บำรุงเส้นเอ็น ใช้รักษาโรคกระดูก
  2. ถั่วลิสง รสมัน บำรุงเส้นเอ็น บำรุงธาตุดิน
  3. หอมแดง รสเผ็ดร้อน แก้ไข้เพื่อเสมหะ บำรุงธาตุ แก้ไข้หวัด
  4. ขิง รสหวาน เผ็ดร้อน แก้จุดเสียด แก้เสมหะ บำรุงธาตุ แก้คลื่นเหียนอาเจียน
  5. มะนาว เปลือกผล รสขม ช่วยขับลม น้ำมะนาวรสเปรี้ยว ขับเสมหะ แก้ไอ แก้เลือดออกตามไรฟัน ฟอกโลหิต
  6. พริกขี้หนู รสเผ็ดร้อน ช่วยเจริญอาหาร ขับลม ช่วยย่อย
  7. ใบชะพลู รสเผ็ดเล็กน้อย แก้ธาตุพิการ ขับลม
  8. ใบทองหลาง ขับพยาธิไส้เดือน แก้ตาแดง ตาแฉะ ตับพิษ
  9. ข่า รสเผ็ดปร่าและร้อน ช่วยขับลม ขับพิษโลหิตร้ายในมดลูก ขับลมในลำไส้
  10. ตะไคร้ แก้ปวดท้อง ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ ช่วยเจริญอาหาร และขับเหงื่อ
ประโยชน์ทางอาหาร          เมี่ยงคำเป็นอาหาร ช่วยบำรุงธาตุ ปรับธาตุชั้นหนึ่งในเครื่องเมียงคำที่ประกอบด้วยใบชะพลู มะนาว บำรุงธาตุน้ำ พริก หอม บำรุงธาตุลม ขิงและเปลือกมะนาว บำรุงธาตุไฟ มะพร้าว ถั่วลิสง น้ำตาล กุ้งแห้ง บำรุงธาตุดิน เมื่อทำเมี่ยงคำเป็นอาหารว่าง ผู้รับประทานสามารถปรุงตามสัดส่วนที่สอดคล้องกับธาตุเจ้าเรือนของตนได้ หรือปรุงสัดส่วนตามอาการที่ไม่สบายได้อย่างเหมาะสม

คุณค่าทางโภชนาการเมี่ยงคำ 1 ชุด ให้พลังงานต่อร่างกาย 659 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย
  • โปรตีน 114 กรัม
  • ไขมัน 88.6 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 370.7 กรัม
  • กาก 9.6 กรัม
  • ใยอาหาร 13.4 กรัม
  • เถ้า 6.4 กรัม
  • แคลเซียม 1032 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 1679.1 มิลลิกรัม
  • เหล็ก 51.1 มิลลิกรัม
  • วิตามินเอ 4973.7 IU
  • วิตามินบีหนึ่ง 140.2 มิลลิกรัม
  • วิตามินบีสอง 1.7 มิลลิกรัม
  • ไนอาซิน 35.2 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 186.4 มิลลิกรัม

                                    แกงส้มดอกแค

                                                        แกงส้มดอกแค

                 ” แกงส้มดอกแค แก้ไข้หัวลม ” มักจะเป็นคำพูดติดปากที่ได้ยินคุ้นหูกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งจริง ๆ แล้วแกงส้มนั้นสามารถใช้ผักต่าง ๆ ได้หลากหลายชนิด เช่น แกงส้มผักกระเฉด แกงส้มผักบุ้ง แกงส้มถั่วฝักยาว เป็นต้น และแกงส้มยังมีคุณค่าด้านเป็นยาปรับสมดุลของร่างกายได้ตามหลักของการแพทย์แผนไทย

เครื่องปรุงในการทำ?
  1. ดอกแค 2 ถ้วย
  2. กุ้งก้ามกราม 3 ตัว หรือปลาช่อนตัวเล็ก 1 ตัว
  3. น้ำมะขามเปียก 2 ช้อนโต๊ะ
  4. น้ำ 3 ถ้วย
วิธีทำเครื่องแก แกงส้มดอกแค
  • พริกแห้งเม็ดใหญ่แกะเมล็ดออกแช่น้ำ 5 เม็ด
  • หอมแดงซอย 3 หัว
  • กระเทียม 2 หัว
  • ตะไคร้ซอย 3 หัว
  • เกลือป่น/กะปิ 1 ช้อนชา
วิธีทำ แกงส้มดอกแค
  1. โขลกพริกแห้ง เกลือ ตะไคร้ให้ละเอียด ใส่กระเทียม หอมแดง กะปิ โขลกเข้ากันให้ละเอียด
  2. ดอกแค เด็ดเกสรออก ล้างให้สะอาดใส่ตะแกรงพักให้สะเด็ดน้ำ
  3. ล้างกุ้ง ตัดกรีออก แกะเปลือกที่ตัวกุ้งออกจนถึงเปลือกข้อสุดท้าย ไว้หางผ่าหลัง ดึงเส้นดำออกหรือล้างปลาตัดเป็นท่อนเล็กๆ
  4. ต้มน้ำให้เดือด ใส่กุ้งหรือปลาพอสุกใส่เครื่องแกงที่เตรียมไว้ คนพอให้ทั่ว ใส่น้ำปลา น้ำมะขามเปียก น้ำมะนาว คนพอให้ทั่ว ใส่น้ำปลา น้ำมะขามเปียก น้ำมะนาว คนให้ทั่วชิมรส พอเดือดใส่ดอกแค ยกลงตัดใส่ชามพร้อมเสิร์ฟ
สรรพคุณทางยา
  1. น้ำพริกแกงส้ม รสเผ็ดร้อน ช่วยขับลม ช่วยย่อยอาหาร
  2. ดอกแค รสหวานออกขมเล็กน้อย แก้ไข้หัวลม
  3. มะขามเปียก รสเปรี้ยว ขับเสมหะ แก้ท้องผูก แก้ไอ ลดความร้อนในร่างกาย
  4. มะนาว เปลือกผลรสขมช่วยขับลม น้ำในลูกรสเปรี้ยว แก้เสมหะ แก้ไอ แก้เลือดออกตามไรฟัน ฟอกโลหิต
ประโยชน์ทางอาหาร           แกงส้มดอกแคแก้ไข้หัวลม มีประโยชน์และคุณค่ามากมาย เช่น รสเปรี้ยวของแกงส้มบำรุงธาตุน้ำ รสเผ็ดของน้ำแกงบำรุงธาตุลม ดอกแคมีก้านเกสร รสขม แก้ไข้ ซึ่งการที่จะมุ่งประโยชน์ในการปรับธาตุใดนั้นให้ปรุงรสเน้นไปตามธาตุนั้น

คุณค่าทางโภชนาการ
  • แกงส้มดอกแค 1 ชุด ให้พลังงานต่อร่างกาย 58 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วย
  • น้ำ 501.4 กรัม
  • โปรตีน 111.9 กรัม
  • ไขมัน 22 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 7.3 กรัม
  • กาก 7.1 กรัม
  • ใยอาหาร1.1 กรัม
  • เถ้า 16.8 กรัม
  • แคลเซียม 435.3 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 1,634.7 มิลลิกรัม
  • เหล็ก 49.2 มิลลิกรัม
  • วิตามินเอ 1207.7 IU
  • วิตามินบีหนึ่ง 0.58 มิลลิกรัม
  • วิตามินบีสอง 1.37 มิลลิกรัม
  • ไนอาซิน 17.16 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 30.85 มิลลิกรัม
                                  food5

                                                          ไก่ต้มขมิ้น

เครื่องปรุง

1.ไก่บ้าน 1 ตัว (100กรัม)
2.ตะไคร้ 2 ต้น (30 กรัม)
3.ขมิ้น 2 นิ้ว (10 กรัม)
4.กระเทียม 3 หัว (30 กรัม)
5.หอมแดง 5 หัว (45 กรัม)
6.ข่า 7 แว่น (50 กรัม)
7.เกลือป่น 2 ช้อนชา (5 กรัม)
8.ส้มแขก 5 ชิ้น (5 กรัม)

วิธีทำ
  1. ล้างไก่ให้สะอาด แล้วสับชิ้นพอคำ
  2. ทุบตะไคร้ให้แตก หั่นเป็นท่อน 2-3 นิ้ว ทุบข่า ขมิ้น แล้วบุบหอมแดง กระเทียม
  3. เอาน้ำ 4 ถ้วยใส่หม้อตั้งไฟ พอเดือด ใส่เครื่องที่เตรียมไว้ (ข้อ 2) ต้มสักพักจนเครื่องหอม ใส่ส้มแขก
  4. ใส่ไก่ต้มจนสุก ใส่เกลือ น้ำตาล ปรุงรสตามชอบ ยกลง
สรรพคุณทางยา
  1. ตะไคร้ แก้ปวดท้อง ขับปัสสาวะบำรุงธาตุ ช่วยเจริญอาหาร
  2. กระเทียม รสเผ็ดร้อน ขับลมในลำไส้ แก้ไอ ขับเสมหะ ช่วยย่อยอาหาร แก้โรคทางผิวหนัง น้ำมันกระเทียมมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส ลดน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในหลอดเลือด
  3. หอมแดง รสเผ็ดร้อน แก้ไข้เพื่อเสมหะ บำรุงธาตุ แก้ไข้หวัด
  4. ข่า รสเผ็ดปร่าและร้อน ขับลมในลำไส้ ขับพิษโลหิตในมดลูก
  5. ขมิ้นชัน รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ขับลม เจริญอาหาร รักษาโรคผิวหนัง
  6. ส้มแขก รสเปรี้ยว ลดไขมันในเส้นเลือด แก้ไอขับเสมหะ
  7. มะขาม รสเปรี้ยว ขับเสมหะ แก้ท้องผูก แก้ไอ ลดความร้อนในร่างกาย
คุณประโยชน์ทางอาหาร
            ไก่ต้มขมิ้น เป็นอาหารที่มีรสเปรี้ยวนำ เหมาะสำหรับคนธาตุน้ำ เป็นหวัดเรื้อรัง รับประทานเผ็ด ๆ แก้ไอ ขับเสมหะ เพิ่มความสดชื่นให้กับร่างกาย

คุณค่าทางโภชนาการ
             ไก่ต้มขมิ้น 1 ชุด ให้พลังงานต่อร่างกาย 1,424.18 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วย
  • น้ำ 866.08 กรัม
  • ไขมัน 45.06 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 40.03 กรัม
  • โปรตีน 214.88 กรัม
  • กาก 4.44 กรัม
  • แคลเซียม 68.85 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 273.95 มิลลิกรัม
  • เหล็ก 5.87 มิลลิกรัม
  • เรตินอล 25 ไมโครกรัม
  • เบต้า-แคโรทีน 150 ไมโครกรัม
  • วิตามินเอ 282.35 IU
  • วิตามินบีหนึ่ง 1.32 มิลลิกรัม
  • วิตามินบีสอง 2.94 มิลลิกรัม
  • ไนอาซิน 31.12 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 56.15 มิลลิกรัม
(ไม่สามารถคำนวณหาคุณค่าทางโภชนาการของส้มแขกได้)


                               ยำใบบัวบก

                          ยำใบบัวบก

สรรพคุณทางยา
  1. บัวบก ทั้งต้นรสหอมเย็น บำรุงหัวใจ บำรุงร่างกาย แก้อ่อนเพลีย แก้ไข้กระหายน้ำ แก้ช้ำใน
  2. หอมแดง รสเผ็ดร้อน แก้ไข้เพื่อเสมหะ บำรุงธาตุ แก้ไข้หวัด
  3. พริกขี้หนูสด รสเผ็ดร้อน ขับลม ช่วยย่อย ช่วยเจริญอาหาร
  4. มะนาว เปลือกผลรสขม ช่วยขับลม น้ำมะนาวรสเปรี้ยว แก้ไอ ขับเสมหะ แก้เลือดออกตามไรฟัน ฟอกโลหิต
คุณค่าทางโภชนาการ
           ยำบัวบก 1 ชุด ให้พลังงานต่อร่างกาย 285.67 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วย
  • น้ำ 284.23 กรัม
  • ไขมัน 3.58 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 42.63 กรัม
  • โปรตีน 21.67 กรัม
  • กาก 7.91 กรัม
  • แคลเซียม 1,174.66 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 379.86 มิลลิกรัม
  • เหล็ก 17.49 มิลลิกรัม
  • วิตามินเอ 26,869.85 IU
  • วิตามินบีหนึ่ง 0.67 มิลลิกรัม
  • วิตามินบีสอง 0.34 มิลลิกรัม
  • ไนอาซิน 5.02 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 29.1 มิลลิกรัม
                                     ส้มตำ

                         ส้มตำลาวใส่มะกอก

             ส้มตำ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน หมายถึง ของกินชนิดหนึ่ง เอาผลไม้มีมะละกอเป็นต้น มาตำประสมกับเครื่องปรุง มีรสเปรี้ยว บางท้องถิ่นเรียก ตำส้ม
ส้มตำ เป็นอาหารยอดนิยมองคนไทยโดยเฉพาะ คนอีสาน พบได้ทุกสถานที่ โดยเฉพาะตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เช่น ทะเล ภูเขา น้ำตก ฯลฯ จะพบอาหารนี้ได้ทุกซอกทุกมุม ซึ่งหารับประทานได้ง่ายตามสถานที่ทั่วไป แม้แต่ตามซอกซอยตามภัตตาคารหรือตามห้างต่าง ๆ เรียกว่า ส้มตำเป็นอาหารจานโปรดของทุกคนเลยก็ว่าได้ ทำเอาพ่อค้า แม่ขาย อาชีพนี้รวยไปตาม ๆ กัน ส้มตำมีหลายประเภท ได้แก่ ส้มตำไทย, ส้มตำไทยใส่ปู, ส้มตำปูใส่ปลาร้า, ส้มตำลาวใส่มะกอก ส้มตำมักรับประทานกับข้าวมันหรือข้าวเหนียว และแกล้มกับผักชนิดต่าง ๆ
ส้มตำ เป็นภาษากลางที่ใช้เรียกกันทั่วไป ชาวอีสานเรียก ตำบักหุ่ง หรือ ตำส้ม ส้มตำของชาวอีสานมีความหลากหลายมาก พืชผัก ผลไม้ ชนิดต่าง ๆ ก็สามารถนำมาตำรับประทานได้ทั้งสิ้น เช่น ตำมะละกอ ตำถั่วฝักยาว ตำกล้วยดิบ ตำหัวปลี ตำมะยม ตำลูกยอ ตำแตง ตำสับปะรด ตำมะขาม เป็นต้น
ส้มตำลาวของชาวอีสานจะใส่ผลมะกอกเข้าไปด้วย เพื่อเพิ่มรสชาติ โดยฝานเป็นชิ้นรวมกับส้มตำมะละกอ ช่วยให้รสชาติอร่อยขึ้น ส้มตำลาวเป็นเมนูอาหารหลักของชาวอีสาน รองจากข้าวเหนียว คือ สามารถรับประทานกันได้ทุกวันและทุกมื้อ วัฒนธรรมการกินอาหารอย่างหนึ่งของชาวอีสาน คือ หากมื้อใดมีการทำส้มตำรับประทานก็มักจะเรียกเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงมาร่วมกันสังสรรค์ รับประทานส้มตำด้วย บางคนถึงกับบอกว่า ทานคนเดียวไม่อร่อย ต้องทานหลาย ๆ คน หรือแย่งกันทาน เรียกว่าส้มตำรวยเพื่อนก็ไม่ผิดนัก
บางครั้งส้มตำลาวจะอร่อยหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับปลาร้าเป็นสำคัญ ถ้าหากปลาร้าอร่อยมีรสชาติดี ก็จะทำให้ส้มตำลาวครกนั้นมีรสชาติอร่อยไปด้วย ปลาร้าที่ใส่ส้มตำสามารถใส่ได้ทั้งน้ำและตัวปลาร้า หรือบางคนก็ใส่แต่น้ำปลาร้า ใส่เพื่อพอให้มีกลิ่น แล้วแต่คนชอบ แต่ต้องทำให้สุกเสียก่อน ชาวอีสานส่วนใหญ่ยังมีความคิดว่ากินปลาร้าดิบ แซ่บกว่าปลาร้าสุก ด้วยความคิดเช่นนี้จึงทำให้หลายคนกินปลาร้าแล้วได้พยาธิแถมเข้ามาอยู่ในตัวด้วย ถึงแม้ว่าการใช้เกลือประมาณร้อยละ 30 ของน้ำหมักปลาในการหมัก ก็เป็นเพียงการช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคที่ทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้เท่านั้น แต่ยังไม่มีคำยืนยันจากนักวิชาการว่าเกลือสามารถฆ่าพยาธิได้
นอกจากนี้จากผลการวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังพบว่าในปลาร้าดิบมีสารที่ยับยั้งการทำงานของวิตามินบีหนึ่ง ซึ่งการที่จะทำให้สารชนิดนี้หมดไปได้ มีวิธีเดียวเท่านั้น คือ การทำให้สุกโดยใช้ความร้อน

เครื่องปรุง
  1. มะละกอสับตามยาว 1 ถ้วย (100กรัม)
  2. มะเขือเทศสีดา 3 ลูก (30 กรัม)
  3. มะกอกสุก 1 ลูก (5 กรัม)
  4. พริกขี้หนูสด 10 เม็ด (15 กรัม)
  5. กระเทียม 10 กลีบ (30 กรัม)
  6. น้ำมะนาว 1-2 ช้อนโต๊ะ (30 กรัม)
  7. น้ำปลา 1/2 ช้อนโต๊ะ (8 กรัม)
  8. น้ำปลาร้าต้มสุก 1 ช้อนโต๊ะ (15 กรัม)
  9. ผักสด ถั่วฝักยาว กำหล่ำปลี ยอดผักบุ้ง ยอดและฝักกระถิน
  10. ยอดมะยม ชนิดละ 50 กรัม
วิธีทำ
  1. โขลกกระเทียม พริกขี้หนู พอแตก
  2. ใส่มะละกอ มะเขือเทศผ่าซีก ฝานมะกอกเป็นชิ้นบางใส่ลงโขลกเข้าด้วยกัน
  3. ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำปลาร้า น้ำมะนาว โขลกเบา ๆ พอเข้ากัน ชิมรสตามชอบ รับประทานกับฝักสด
สรรพคุณทางยา
  1. มะละกอ ผลดิบ ต้มกินเป็นยาบำรุงน้ำนม ขับพยาธิ แก้บิด แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้ริดสีดวงทวาร ช่วยย่อยอาหาร ขับน้ำดี น้ำเหลือง
  2. มะเขือเทศ รสเปรี้ยว เป็นผักที่ใช้แต่งสี และกลิ่นอาหาร ช่วยระบาย บำรุงผิว
  3. มะกอก รสเปรี้ยว ฝาด หวาน แก้โรคธาตุพิการ เพราะน้ำดีไม่ปกติ แก้บิด แก้โรคเลือดออกตามไรฟัน ผลสุกทำให้ชุ่มคอ แก้กระหายน้ำ
  4. พริกขี้หนู รสเผ็ดร้อน ช่วยเจริญอาหาร ขับลม ช่วยย่อย
  5. กระเทียม รสเผ็ดร้อน ขับลมในลำไส้ แก้ไอ ขับเสมหะ ช่วยย่อยอาหาร แก้โรคผิวหนัง น้ำมันกระเทียมมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อรา แบคทีเรียและไวรัส ลดน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในหลอดเลือด
  6. มะนาว เปลือกผลรสขม ช่วยขับลม น้ำในลูกรสเปรี้ยว แก้เสมหะ แก้ไอ แก้เลือดออกตามไรฟัน ฟอกโลหิต
  7. ผักแกล้มต่าง ๆ ได้แก่
    - ถั่วฝักยาว รสมันหวาน ช่วยกระตุ้นการทำงานของกระเพาะลำไส้ บำรุงธาตุดิน
    - กะหล่ำปลี รสจืดเย็น กระตุ้นการทำงานของกระเพาะลำไส้ บำรุงธาตุไฟ
    - ผักบุ้ง รสจืดเย็น ต้มกินใช้เป็นยาระบาย ทำให้อาเจียน เนื่องจากพิษของฝิ่นและสารหนู
    - กระถิน รสมัน แก้ท้องร่วง สมานแผล ห้ามเลือด ถ่ายพยาธิ
    - มะยม ใบต้มกิน เป็นยาแก้ไอ ช่วยดับพิษไข้ บำรุงประสาท ขับเสมหะ บำรุงอาหาร แก้พิษไข้อีสุกอีใส โรคหัดเหือด
รสและสรรพคุณ
  • มะละกอดิบ (ผลยาว) มีรสหวาน ปลูกได้ทั่วไปในทุกภาค ออกผลตลอดปี
    - ในทางยา ต้นมะละกอ สรรพคุณ แก้มุตกิต ขับระดูขาว
    - ดอกมะละกอ สรรพคุณ ขับประจำเดือน ลดไข้
    - ราก รสขมเอียน สรรพคุณ ขับปัสสาวะ
    - เมล็ดอ่อน สรรพคุณ แก้กลากเกลื้อน
    - ยางมะละกอ สรรพคุณ ช่วยกัดแผลรักษาตาปลา และหูด ฆ่าพยาธิหลายชนิด ในการทำอาหาร – ยอดอ่อนนำมาดองและรับประทานเป็นผักได้ ส่วนผลดิบ ปรุงเป็นอาหารหลายชนิด ผลมะละกอดิบ หั่นเป็นชิ้น นึ่งหรือต้มให้สุกและรับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริกหรืออาจปรุงเป็นผัดมะละกอ โดยนำผลห่ามหั่นฝอยเป็นชิ้นยาว ๆ ผัดกับไข่และหมูได้ นอกจากนี้เนื้อมะละกอยังนำมาปรุงเป็นแกงส้ม แกงอ่อมได้
  • มะกอก เมื่อรับประทานทีแรกมีรสเปรี้ยวอมฝาด แต่เมื่อถึงคอแล้วหวานชุ่มคอ อุดมด้วยวิตามินซีใช้เป็นยาฝาดสมาน และแก้โรคลักปิดลักเปิด เปลือกมีกลิ่นหอม ฝาดสมานและเป็นยาเย็นใช้แก้อาการท้องเสีย และโรคที่เกี่ยวกับลำไส้ ระงับอาเจียน ยอดอ่อน
    - ใบอ่อนและผลสุกใช้รับประทานเป็นผัก ยอดอ่อนและใบอ่อนออกมากในฤดูฝน และออกเรื่อย ๆ ตลอดปี
    - ส่วนผลเริ่มออกในฤดูหนาวผลสุกรสเปรี้ยว เย็น หวาน ฝาด ทำให้ชุ่มคอ แก้กระหายน้ำ แก้เลือดออกตามไรฟันในด้านการนำมาทำอาหาร คนไทยทุกภาครู้จักและรับประทานยอดมะกอกเป็นผักสด ในภาคกลางรับประทานยอดอ่อน ใบอ่อน ร่วมกับน้ำพริกปลาร้า เต้าเจี้ยวหลน ชาวอีสานรับประทานร่วมกับลาบก้อย แจ่วป่น และฝานผลเป็นชิ้นรวมกับส้มตำมะละกอ หรือพล่ากุ้งช่วยให้รสชาติอร่อยขึ้น
ประโยชน์ทางอาหาร                ส้มตำ 1 ครก จะมีหลายรสชาติ เช่น เปรี้ยว มัน เค็ม หวาน (น้ำตาลแล้วแต่คนชอบ) ขม (เปลือกมะนาวหรือผลมะกอก) อุดมไปด้วยวิตามิน และแร่ธาตุที่ให้คุณค่าแก่ร่างกายสูง โดยเฉพาะเมื่อนำมาแกล้มกินกับผัก คนอีสานนิยมรับประทานกับเส้นขนมจีน ว่ากันว่ารับประทานเข้ากันดีนัก สำหรับคนภาคกลางมักจะรับประทานร่วมกับอาหารอื่น ๆ เช่น ส้มตำ ไก่ย่าง, ลาบ, น้ำตก, ข้าวเหนียว เรียกว่าเป็นเมนูชุดใหญ่โดยมีส้มตำเป็นอาหารหลักเลยทีเดียว ซึ่งก็จะช่วยให้เราได้สารอาหารประเภทโปรตีนจากเนื้อสัตว์เพิ่มไปด้วย นอกเหนือจากการกินแต่ผักอย่างเดียว
คุณค่าทางโภชนาการ
ส้มตำลาวใส่มะละกอ 1 ชุด ให้พลังงานต่อร่างกาย 205 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วย
  • น้ำ 417.77 กรัม
  • โปรตีน 17 กรัม
  • ไขมัน 2.856 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 29 กรัม
  • กาก 5.75 กรัม
  • ใยอาหาร 2.67 กรัม
  • แคลเซียม 163.4 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 190.36 มิลลิกรัม
  • เหล็ก 24.27 มิลลิกรัม
  • เบต้า-แคโรทีน 473.9 ไมโครกรัม
  • วิตามินเอ 12243 IU
  • วิตามินบีหนึ่ง 0.552 มิลลิกรัม
  • วิตามินบีสอง 0.5 มิลลิกรัม
  • ไนอาซิน 5.545 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 162 มิลลิกรัม
                                   ลาบ

                              ลาบปลาดุก

              ลาบ เป็นอาหารประเภทหนึ่ง ที่ใช้ปลาหรือเนื้อดิบสับให้ละเอียด ผสมด้วยเครื่องปรุงมีพริก ปลาร้า เป็นต้น ถ้าใส่เลือดวัวหรือเลือดหมู เรียกว่า ลาบเลือด ชาวอีสานทุกครัวเรือน มักนิยมทำอาหารประเภทลาบ ในงานบุญต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานบวชพระ งานศพ งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น
ลาบปลาดุก ก็เป็นอาหารประเภทหนึ่งในบรรดาลาบทั้งหมดที่ขึ้นชื่อของอาหารอีสาน และทุกภาครู้จักกันดี เนื่องจากปลาดุกเป็นปลาน้ำจืดที่หาได้ในท้องถิ่น มีรสมัน หวาน เป็นปลาที่ไม่มีเกล็ด และก้างน้อย จึงนิยมนำมาประกอบอาหารประกอบ

เครื่องปรุง ปลาดุกอุยหนักประมาณ 300 กรัม 1 ตัว
  • ข้าวคั่ว 2 ช้อนโต๊ะ (30 กรัม)
  • พริกป่น 1 ช้อนโต๊ะ (15 กรัม)
  • ข่าโขลกละเอียด 1 ช้อนโต๊ะ (15 กรัม)
  • ใบมะกรูดหั่นฝอย 2 ช้อนชา (15 กรัม)
  • ต้นหอมซอย 2 ช้อนชา (15 กรัม)
  • หอมแดงฝอย 2 ต้น (10 กรัม)
  • ใบสะระแหน่ 1 ช้อนโต๊ะ (15 กรัม)
  • น้ำมะนาว ถ้วย (50 กรัม)
  • น้ำปลา 2-3 ช้อนโต๊ะ (30 กรัม)
  • ผักสด กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ใบโหระพา
วิธีทำ
  1. ล้างปลาดุกให้สะอาด ขูดเมือกบนผิวออก นำไปย่างไฟพอสุก แกะเอาแต่เนื้อ สับหยาบๆ
  2. เคล้าเนื้อปลาดุกกับข้าวคั่ว พริกป่น ข่าหั่นฝอย หอมแดงซอย ใบมะกรูดหั่นฝอย
  3. ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำมะนาว คลุกเคล้ากันให้ทั่ว โรยใบสะระแหน่ ต้นหอมซอย ชิมรสตามชอบ รับประทานกับกะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ใบโหระพา
สรรพคุณทางยา
  1. ข้าวสาร รสมันหอมหวาน บำรุงร่างกาย แก้ตาฟาง แก้เหน็บชา แช่น้ำ ตำเป็นแป้งพอก แก้บวม แก้ปวด
  2. พริกขี้หนู รสเผ็ดร้อน ช่วยเจริญอาหาร ขับลม ช่วยย่อย
  3. ข่า รสเผ็ดปร่าร้อน ช่วยขับลม ขับพิษโลหิตในมดลูก ขับลมในลำไส้
  4. ใบมะกรูด รสปร่ากลิ่นหอมติดร้อน ใช้ปรุงอาหาร ช่วยดับกลิ่นคาว แก้โรคลักปิดลักเปิด ขับลมในลำไส้ ขับระดู แก้ลมจุกเสียด
  5. หอมแดง รสเผ็ดร้อน แก้ไข้เพื่อเสมหะ บำรุงธาตุ แก้ไข้หวัด
  6. สะระแหน่
    - ใบ/ยอดอ่อน รสหอมร้อน ขับเหงื่อ แก้ปวดท้อง ขับลม แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ
  7. มะนาว เปลือกผลรสขม ช่วยขับลม น้ำในลูก รสเปรี้ยว แก้เสมหะ แก้ไอ แก้เลือดออกตามไรฟัน ฟอกโลหิต
  8. กะหล่ำปลี รสจืดเย็น กระตุ้นการทำงานของกระเพาะลำไส้ บำรุงธาตุไฟ
  9. ถั่วฝักยาว รสมันหวาน มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ช่วยกระตุ้นการทำงานของกระเพาะลำไส้ บำรุงธาตุดิน
  10. โหระพา ใบรสเผ็ดปร่าหอม แก้ท้องขึ้นอืดเฟ้อ แก้ลมวิงเวียน ช่วยย่อยอาหาร ขับลมในลำไส้ ขับเสมหะ
ประโยชน์ทางอาหาร           ลาบปลาดุก มีรสจัด เปรี้ยว เผ็ด เค็ม ช่วยให้เจริญอาหาร ขับลม ช่วยย่อยอาหาร เนื่องจากส่วนประกอบแต่งด้วยสมุนไพรหลากหลายชนิด

คุณค่าทางโภชนาลาบปลาดุก 1 ชุด ให้พลังงานต่อร่างกาย 553 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย
  • น้ำ 504.16 กรัม
  • โปรตีน 74 กรัม
  • ไขมัน 9.3 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 44 กรัม
  • กาก 7.36 กรัม
  • ใยอาหาร 0.9 กรัม
  • แคลเซียม 565.3 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 408.05 มิลลิกรัม
  • เหล็ก 25 มิลลิกรัม
  • เบต้า-แคโรทีน 240.3 ไมโครกรัม
  • วิตามินเอ 20069.55 1 IU
  • วิตามินบีหนึ่ง 28.66 มิลลิกรัม
  • วิตามินบีสอง 0.9 มิลลิกรัม
  • ไนอาซิน 5.02 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 65.5 มิลลิกรัม


สมุนไพรไทย

         
      สมุนไพรไทย
      กับอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างปวดศีรษะ ปวดท้อง เจ็บคอ ไอ น้ำร้อนลวก มดกัด ยุงกัด ท้องเสีย ท้องอืด ฯลฯ หลายคนมักจะเลือกใช้ยาแผนปัจจุบัน โดยคิดว่าเป็นวิธีที่รวดเร็วทันใจดี แต่ลองชะเง้อมองซิว่า รอบ ๆ บ้านมีพืชสมุนไพรไทยอะไรปลูกอยู่หรือเปล่า เพราะพืชสมุนไพรเหล่านี้สามารถนำมาใช้รักษาอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ ได้ผลชะงัดนักแล แถมบางชนิดยังสามารถรักษาโรคยอดฮิต อย่าง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคมะเร็งได้ด้วย

 

ว่านหางจระเข้

ว่านหางจระเข้

 ว่านหางจระเข้

          ไม้ล้มลุกใบใหญ่หนาที่ทุกคนรู้จักกันดี แม้ถิ่นกำเนิดจะอยู่ไกลถึงฝั่งเมดิเตอร์เรเนียน และแอฟริกา แต่ในประเทศไทยก็มีการปลูกว่านหางจระเข้อย่างแพร่หลาย ซึ่งในตำรับยาไทยก็ใช้ว่านหางจระเข้บำบัดอาการต่าง ๆ ได้มากมาย จนเป็นที่รู้จักว่า เป็นพืชอัศจรรย์ที่มีสรรพคุณสารพัดประโยชน์

          โดย "วุ้นในใบสด" สามารถนำมาบรรเทาอาการปวดศีรษะได้ แต่สรรพคุณเด่น ๆ ที่ทุกคนน่าจะรู้จักก็คือ นำมาพอกแผลน้ำร้อนลวก ไฟไหม้ แก้ปวดแสบปวดร้อน แผลเรื้อรัง รักษาผิวที่ถูกแดดเผา แผลในกระเพาะอาหาร และช่วยถอนพิษได้ เพราะว่านหางจระเข้มีสรรพคุณช่วยสมานแผล แต่มีข้อแนะนำว่า ก่อนใช้ควรทดสอบดูก่อนว่าแพ้หรือไม่ โดยเอาวุ้นทาบริเวณท้องแขนด้านใน ถ้าผิวไม่คันหรือแดงก็ใช้ได้ นอกจากส่วนวุ้นในใบสดแล้ว ส่วน "ยางในใบ" ก็สามารถนำมาทำเป็นยาระบายได้ และส่วน "เหง้า" ก็นำไปต้มน้ำรับประทาน แก้โรคหนองในได้ด้วย


ขมิ้นชัน

ขมิ้นชัน

ขมิ้นชัน

          เรียกกันทั่วไปว่า "ขมิ้น" เป็นไม้ล้มลุกมีสีเหลืองอมส้ม มีเหง้าอยู่ใต้ดิน มีกลิ่นหอม คนนิยมนำ "เหง้า" ทั้งสดและแห้งมาใช้รักษาอาการที่เกี่ยวกับกระเพาะอาหาร รวมทั้งแก้ท้องเสีย ท้องร่วง จุกเสียดแน่นท้อง และสามารถนำขมิ้นชันมาทาภายนอก เพื่อใช้รักษาแผลเรื้อรัง แผลสด โรคผิวหนัง พุพอง รักษาชันนะตุได้ด้วย

          นอกจากนั้น "ขมิ้นชัน" ยังอุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี และสารต้านอนุมูลอิสระ "คูเคอร์มิน" ที่ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งตับ อีกทั้งยังสร้างภูมิคุ้มกันให้ผิวหนัง หรือใครที่มีแผลอักเสบ "ขมิ้นชัน" ก็มีสรรพคุณช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น เพราะมีฤทธิ์ไปลดการอักเสบ ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนอง และหากรับประทานขมิ้นชันทุกวัน ตามเวลาจะช่วยให้ความจำดีขึ้น ไม่อ่อนเพลียยามตื่นนอน และช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้นด้วย

ทองพันชั่ง

ทองพันชั่ง

ทองพันชั่ง

          เป็นสมุนไพรที่มีคุณค่าไม่ต่างไปจากชื่อ "ทองพันชั่ง" หลายพื้นที่อาจเรียกว่า "ทองคันชั่ง" หรือ "หญ้ามันไก่" เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ออกดอกสีขาว ส่วนที่ใช้ทำยาคือ ใบและราก ที่หากนำปริมาณ 1 กำมือมาต้มรับประทานเช้าเย็น จะช่วยดับพิษไข้ รักษาโรคผิวหนัง ริดสีดวงทวารหนัก แก้ไอเป็นเลือด ฆ่าพยาธิ นอกจากนั้น ยังสามารถนำใบและรากมาตำละเอียด เพื่อรักษาโรคกลาก เกลื้อน ได้ด้วย

          นอกจากสรรพคุณข้างต้นแล้ว มีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมพบว่า "ทองพันชั่ง" มีฤทธิ์ยับยั้งมะเร็งเยื่อบุช่องปาก มะเร็งเต้านม และมะเร็งมดลูกได้ รวมทั้งช่วยขับปัสสาวะ ลดความดันโลหิตสูง แก้ผมร่วง รักษาโรคนิ่ว ฯลฯ แต่ข้อควรระวังคือ ผู้ที่เป็นโรคโลหิตจาง โรคหัวใจ โรคหืด โรคความดันโลหิตต่ำ โรคมะเร็งในเม็ดเลือด ไม่ควรรับประทาน


กะเพรา

กะเพรา

กะเพรา

          แม้จะเป็นผักที่คนไทยนิยมสั่งมารับประทานเวลาที่นึกไม่ออก แต่ก็มีน้อยคนที่จะรู้ว่า กะเพรา มีสรรพคุณอะไรบ้าง ที่เห็นชัด ๆ เลยก็คือ ใบกะเพรา มีฤทธิ์ขับลม ช่วยแก้จุดเสียด แน่นท้อง แก้ปวดท้องอุจจาระ ส่วนน้ำสกัดทั้งต้น สามารถรักษาแผลในกระเพาะอาหาร สำหรับเมล็ดกะเพรา ก็สามารถพอกตาให้ผงหรือฝุ่นที่เข้าตาหลุดออกมาได้อย่างง่ายดาย นอกจากนั้นแล้ว รากกะเพราแห้ง ๆ ยังนำมาชงกับน้ำร้อนดื่มแก้โรคธาตุพิการได้ด้วย

          และสรรพคุณเด็ดของกะเพราอีกประการก็คือ ช่วยขับไขมันและน้ำตาล เคยสงสัยบ้างไหมล่ะ ทำไมอาหารตามสั่งต้องมีเมนูผัดกะเพราเนื้อ กะเพราไก่ กะเพราหมู นั่นก็เพราะนอกจากใบกะเพราจะช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ได้แล้ว ยังมีฤทธิ์ขับไขมัน และน้ำตาลส่วนเกินออกจากร่างกาย อีกทั้ง กะเพราจะช่วยขับน้ำดีในตับออกมาให้ช่วยย่อยไขมันได้ดีขึ้นด้วย เพราะฉะนั้น หากบอกว่า รับประทานกะเพราแล้วจะช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดอุดตัน โรคหัวใจ ก็คงไม่ผิดนัก

กระชายดำ

กระชายดำ

กระชายดำ

          สมุนไพรแสนมหัศจรรย์ของท่านชาย (อิอิ) เพราะสรรพคุณของกระชายดำที่ได้รับการกล่าวขานกันมากก็คือ สรรพคุณเพิ่มพลังทางเพศ หรือแก้โรคกามตายด้าน เนื่องจากฤทธิ์ของกระชายดำจะไปบำรุงกำลัง เพิ่มฮอร์โมนให้หนุ่ม ๆ ทำให้สมรรถภาพทางเพศเพิ่มขึ้น

          แต่ใช่ว่า กระชายดำ จะมีประโยชน์แค่เรื่องเพิ่มพลังทางเพศเท่านั้นนะ เพราะกระชายดำยังสรรพคุณมากมาย ทั้งบำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง เป็นยาเจริญอาหาร และบำรุงธาตุ แก้หัวใจสั่นหวิว แก้ลมวิงเวียนแน่นหน้าอก แผลในปาก ช่วยให้โลหิตหมุนเวียนดีขึ้น ผิวพรรณผ่องใส ขับปัสสาวะ แก้โรคกระเพาะ ฯลฯ และด้วยสรรพคุณอันแสนมหัศจรรย์มากมายขนาดนี้ กระชายดำ เลยถูกขนานนามว่าเป็น "โสมไทย" ซึ่งนิยมปลูกมากจนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดเลยทีเดียว

ว่านชักมดลูก

ว่านชักมดลูก

ว่านชักมดลูก

          มาที่พืชสมุนไพรสำหรับสาว ๆ กันบ้าง แค่ชื่อก็บอกอยู่แล้ว เหมาะกับคุณสุภาพสตรีเป็นที่สุด เพราะเหง้าของว่านชักมดลูกมีสรรพคุณช่วยขับประจำเดือนในสตรีที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ ส่วนผู้หญิงที่เพิ่งคลอดบุตร ว่านชักมดลูกก็จะช่วยบีบมดลูกให้เข้าอู่เร็วขึ้น ขับน้ำคาวปลา และรักษาโรคมดลูกพิการปวดบวมได้

          นอกจากนั้น ว่านชักมดลูก ยังแก้ริดสีดวงทวาร แก้ไส้เลื่อน แก้โรคลม รักษาอาการอาหารไม่ย่อย ขณะที่รากของว่านชักมดลูกสามารถใช้แก้ท้องอืดเฟ้อได้อีกต่างหาก


กระเจี๊ยบแดง

กระเจี๊ยบแดง

กระเจี๊ยบแดง

          หลายคนนำใบและยอดของกระเจี๊ยบแดงไปใส่ในแกง ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มรสเปรี้ยวในอาหารแล้ว ใบกระเจี๊ยบแดงยังแก้โรคพยาธิตัวจี๊ด แก้ไอ ละลายเสมหะ ส่วนดอกใช้แก้โรคนิ่วในไต นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ขัดเบา ละลายไขมันในเส้นเลือด

          แต่ส่วนที่มีสรรพคุณมากเป็นพิเศษก็คือ ส่วนกลีบเลี้ยงของดอก หรือกลีบที่เหลืออยู่ที่ผล สามารถช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ลดน้ำหนัก ลดความดันโลหิต นำไปทำเป็นน้ำกระเจี๊ยบดื่มช่วยให้ร่างกายสดชื่น ลดความเหนียวข้นของเลือด ขับปัสสาวะ ป้องกันต่อมลูกหมากโตให้คุณผู้ชายได้ด้วย และมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่า หากรับประทานกระเจี๊ยบแดงต่อเนื่อง 1 เดือน จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ระดับไขมันในเลือด ทั้งคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ ไขมันเลว (LDL) ลดลง และยังเพิ่มไขมันชนิดดีคือ HDL ได้ด้วย


มะขามป้อม

มะขามป้อม

มะขามป้อม

          เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก-กลางที่จัดเป็นยาอายุวัฒนะ เพราะมีสรรพคุณเพียบในแทบทุกส่วนของต้น แต่ที่รู้จักกันดีก็คือ ผลของมะขามป้อมจะมีรสเปรี้ยวมาก ๆ แต่ก็ชุ่มคอ และให้วิตามินซีสูงมากเช่นกัน ดังนั้น จึงมีคนนำผลมะขามป้อมสดมาใช้เป็นยาแก้หวัด แก้ไอ ละลายเสมหะ รักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน

          นอกจากนั้นแล้ว ส่วน "ราก" ยังแก้พิษตะขาบกัด แก้ร้อนใน ลดความดันโลหิต แก้โรคเรื้อน ส่วนเปลือก แก้โรคบิด และฟกช้ำ ส่วนปมก้าน ใช้เป็นน้ำยาบ้วนปาก แก้ปวดฟัน "ผลแห้ง" ใช้รักษาอาการท้องเสียง หนองใน เยื่อบุตาอักเสบ แก้ตกเลือด และส่วน "เมล็ด" ก็สามารถนำไปเผาไฟผสมกับน้ำมันพืช ทาแก้คัน แก้หืด หรือจะตำเมล็ดให้เป็นผง ชงกับน้ำร้อนดื่มแก้โรคเบาหวาน หอบหืด หลอดลมอักเสบก็ได้


ฟ้าทะลายโจร

ฟ้าทะลายโจร

ฟ้าทะลายโจร

          ฟ้าทะลายโจร เป็นไม้ล้มลุก สูงประมาณ 30-70 เซนติเมตร ทุกส่วนมีรสขม สรรพคุณเด่น ๆ ที่ทุกคนรู้จักกันดีก็คือ ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้หวัดใหญ่ แก้ร้อนใน เพราะมีฤทธิ์ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย หากรับประทานบ่อย ๆ จะช่วยป้องกันไม่ให้เป็นหวัดง่าย นอกจากเรื่องหวัดแล้ว ฟ้าทะลายโจรยังระงับอาการอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ ขับเสมหะ รักษาอาการท้องเสีย ลำไส้อักเสบ รักษาโรคตับ เบาหวาน โรคงูสวัด ริดสีดวงทวาร และรสขมของฟ้าทะลายโจรยังช่วยให้เจริญอาหารอีกด้วย

          ข้อควรระวัง ก็คือ คนที่มีอาการเจ็บคอเนื่องจากติดเชื้อ Streptococcus group A , ผู้ที่เป็นโรคหัวใจรูห์มาติค , มีอาการเจ็บคอ เนื่องจากมีการติดเชื้อแบคทีเรีย, เป็นความดันต่ำ และสตรีมีครรภ์ ไม่ควรทานฟ้าทะลายโจร  และหากใครทานแล้วเกิดปวดท้อง ปวดเอว วิงเวียนศีรษะ ใจสั่น ควรหยุดใช้ฟ้าทะลายโจร นอกจากนั้นแล้ว ยังไม่ควรรับประทานต่อเนื่องนานเกินไป เพราะอาจทำให้แขนขามีอาการชา หรืออ่อนแรงได้


ย่านาง

ย่านาง

ย่านาง

          ย่านางเป็นสมุนไพรรสจืด เป็นยาเย็น มีฤทธิ์ดับพิษร้อน คนจึงนำใบย่านางไปคั้นเป็นน้ำคลอโรฟิลล์ เพื่อเพิ่มความสดชื่น ปรับอุณหภูมิในร่างกาย และยังนำใบย่านางไปช่วยดับพิษไข้ ดับพิษของอาหาร แก้อาการผิดสำแดง แก้พิษเมา แก้เลือดตก แก้กำเดา ลดความร้อนได้ด้วย นอกจากใบแล้ว ส่วนอื่น ๆ ของย่านางก็มีประโยชน์เช่นกัน ทั้ง "ราก" ที่ใช้แก้ไข้พิษ ไข้หัด ไข้ฝีดาษ ไข้กาฬ ไข้ทับระดู "เถาย่านาง" ใช้แก้ไข ลดความร้อนในร่างกาย

          ขณะที่ข้อมูลทางเภสัชวิทยาระบุว่า ย่านาง ยังช่วยต้านมาลาเรีย ยับยั้งการหดเกร็งของลำไส้ ต้านฮีสตามีน ส่วนข้อมูลทางโภชนาการระบุว่า ย่านางมีเบต้าแคโรทีนในปริมาณสูง ซึ่งจะช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย แถมยังอุดมไปด้วยเส้นในอาหาร แคลเซียม เหล็ก ฟอสฟอรัส ย่านางจึงเป็นหนึ่งในจำนวนผักพื้นบ้านที่นักวิจัยแนะนำให้นำมาใช้ในรูปแบบอาหารเพื่อรักษาโรคมะเร็ง


มะรุม

มะรุม

มะรุม

          พืชสมุนไพรสุดแสนมหัศจรรย์ เพราะนอกจากจะนำมาปรุงอาหารรับประทานแล้วได้รับสารอาหารอย่างวิตามินเอ วิตามินซี แคลเซียม โพแทสเซียม ใยอาหาร แล้ว มะรุม ยังเป็นยาวิเศษรักษาที่ทุกส่วนสามารถใช้รักษาได้สารพัดโรค

          เริ่มจาก "ราก" ที่จะช่วยบำรุงไฟธาตุ แก้อาการบวม "เปลือก" ใช้ประคบแก้โรคปวดหลัง ปวดข้อ รับประทานเป็นยาขับลมในลำไส้ "กระพี้" ใช้แก้ไขสันนิบาด "ใบ" มีแคลเซียม วิตามินซี และสารต้านอนุมูลอิสระสูงมาก ใช้แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้อักเสบ มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ "ดอก" ช่วยบำรุงร่างกาย ขับปัสสาวะ ขับน้ำตา ใช้ต้มทำน้ำชาดื่มช่วยให้นอนหลับสบาย "ฝัก" ใช้แก้ไข้หัวลม "เมล็ด" นำมาสกัดเป็นน้ำมันใช้รักษาโรคปวดข้อ โรคเกาท์ รักษาโรคผิวหนังจากเชื้อรา และ "เนื้อในเมล็ดมะรุม" ใช้แก้ไอได้ดี รวมทั้งยังเพิ่มภูมิต้านทานให้ร่างกายได้ด้วย หากรับประทานเป็นประจำ แต่สำหรับคนที่เป็นโรคเลือด G6PD ไม่ควรรับประทานมะรุม


ชุมเห็ดเทศ

ชุมเห็ดเทศ

ชุมเห็ดเทศ

          ไม้พุ่มขนาดกลาง มีดอกสีเหลือง จัดเป็นอีกหนึ่งสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยามาก โดยชุมเห็ดเทศทั้งต้น มีฤทธิ์ขับพยาธิในลำไส้ รักษาซาง โรคผิวหนัง ถ่ายเสมหะ รักษาอาการฟกช้ำบวม รักษาริดสีดวง ดีซ่าน และฝี ส่วนลำต้น จะใช้เป็นยารักษาคุดทะราด กลากเกลื้อน ช่วยขับพยาธิ ขับปัสสาวะ รักษาอาการท้องผูก

          นอกจากต้นแล้ว ใบชุมเห็ดเทศก็ได้รับความนิยมในคนที่มีอาการท้องผูกเช่นกัน เพราะสามารถนำใบซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ ไปต้มน้ำกินได้ หรือจะใช้อมบ้วนปากก็ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้ท้องเสีย ซึ่งส่งผลให้มีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากโดยเฉพาะโปตัสเซียม รวมทั้งอาจทำให้ดื้อยาได้ด้วย


บอระเพ็ด
บอระเพ็ด

บอระเพ็ด

          เมื่อเอ่ยชื่อ "บอระเพ็ด" หลายคนคงรู้สึก "ขม" ขึ้นมาทันที แต่เพราะความที่เจ้าบอระเพ็ดมีรสขมนี่ล่ะ ถึงทำให้ตัวมันเต็มเปี่ยมไปด้วยสรรพคุณทางยามากมาย ดังสำนวนที่ว่า "หวานเป็นลม ขมเป็นยา"

          อย่างเช่น "ราก" สามารถนำไปดับพิษร้อน แก้ไข้พิษ ไข้จับสั่น ช่วยให้เจริญอาหาร "ต้น" ก็ช่วยแก้ไข้ได้เช่นกัน และยังช่วยบำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้ร้อนใน แก้สะอึก แก้เลือดพิการ ส่วน "ใบ" นอกจากจะช่วยแก้ไข้ได้เหมือนส่วนอื่น ๆ แล้ว ยังช่วยแก้โลหิตคั่งในสมอง ขับพยาธิ แก้ปวดฝี ช่วยลดความร้อน ทำให้ผิวพรรณผ่องใส รักษาโรคผิวหนัง ผดผื่นคันตามร่างกาย

          มาถึง "ดอก" ช่วยฆ่าพยาธิในท้อง ในฟัน ในหู "ผล" ใช้แก้เสมหะเป็นพิษ แก้สะอึกได้ดี แต่ถ้านำทั้ง 5 ส่วน คือ ราก ต้น ใบ ดอก ผล มารวมกัน "บอระเพ็ด" จะกลายเป็นยาอายุวัฒนะเลยทีเดียว เพราะแก้อาการได้สารพัดโรค รวมทั้งโรคริดสีดวงทวาร ฝีในมดลูก เบาหวาน ฯลฯ


เสลดพังพอนตัวเมีย

เสลดพังพอนตัวเมีย

เสลดพังพอนตัวผู้

เสลดพังพอนตัวผู้

เสลดพังพอน

          "เสลดพังพอน" มี 2 ชนิด คือ "เสลดพังพอนตัวผู้" และ "เสลดพังพอนตัวเมีย" ซึ่งทั้งสองชนิดมีสรรพคุณเด่น ๆ คือ ใช้ถอนพิษ แต่ "เสลดพังพอนตัวผู้" จะมีฤทธิ์อ่อนกว่า และส่วนใบจะมีรสขมกว่า

          ลองไปดูสรรพคุณของ "เสลดพังพอนตัวผู้" กันก่อน "ราก" ช่วยแก้ตาเหลือง ตัวเหลือง กินข้าวไม่ได้ ถอนพิษงู แมลงสัตว์กัดต่อย แก้ปวดฟัน ส่วน "ใบ" ก็ช่วยถอนพิษแมลงสัตว์กัดต่อย และยังแก้ปวดแผล แผลจากของมีคมบาด แก้โรคฝี โรคคางทูม ไฟลามทุ่ง งูสวัด เริม ฝีดาษ แก้ฟกช้ำ น้ำร้อนลวก ยุงกัด แก้ปวดฟัน เหงือกบวม

          ส่วน "เสลดพังพอนตัวเมีย" จะนำรากมาปรุงเป็นยาขับปัสสาวะ ขับประจำเดือน แก้ปวดเมื่อยที่เอว ส่วน "ใบ" ซึ่งมีรสจืดจะนำมาสกัดทำเป็นยาใช้รักษาแผลผิวหนังชนิดเริม แผลร้อนในในปาก แผลน้ำร้อนลวกได้ นอกจากนั้น ส่วนทั้ง 5 คือ ราก ต้น ใบ ดอก ผล สามารถใช้ถอนพิษต่าง ๆ ได้ดี ทั้งพิษแมลงสัตว์กัดต่อย ตะขาบ แมลงป่อง รักษาอาการอักเสบ งูสวัด ลมพิษ แผลน้ำร้อนลวก


มะแว้ง

มะแว้ง

มะแว้ง

          มีทั้ง "มะแว้งต้น" และ "มะแว้งเครือ" ที่มีสรรพคุณเด่น ๆ คือ ใช้เป็นยาแก้ไอ ขับเสมหะ เราจึงมักเห็นมะแว้งถูกนำมาผสมเป็นยาอมช่วยแก้ไอ ซึ่งตามตำรับยาแก้ไอแล้ว สามารถใช้ได้ทั้ง ราก ใบ ผล นอกจากนั้น ยังช่วยลดน้ำลายเหนียว บำรุงธาตุ รักษาวัณโรค แก้คอแห้ง ขับปัสสาวะ รักษาโรคทางไตและกระเพาะปัสสาวะ แก้โลหิตออกทางทวารหนัก และแก้โรคหอบหืดได้ด้วย

          นอกจากนั้น ลูกมะแว้งเครือสามารถนำไปปรุงอาหาร ทานเป็นผักได้ ส่วนลูกมะแว้งต้นก็ใช้ปรุงอาหารได้เช่นกัน แต่คนนิยมน้อยกว่าลูกมะแว้งเครือ


รางจืด , ว่านรางจืด

รางจืด

รางจืด

          เมื่อพูดถึงสมุนไพรถอนพิษ หลายคนนึกถึง "รางจืด" หรือ "ว่านรางจืด" ทันที เพราะส่วนใบและรากของรางจืดสามารถปรุงเป็นยาถอนพิษยาฆ่าแมลงได้ มีประโยชน์ในเวลาที่หากใครเกิดเผลอทานยาฆ่าแมลง ยาพิษ หรือยาเบื่อเข้าไปโดยไม่ได้ตั้งใจ และอยู่ไกลโรงพยาบาล การทานรากรางจืดก็จะช่วยบรรเทาพิษในเบื้องต้นได้

          นอกจากนั้นแล้ว รางจืด ยังสามารถปรุงเป็นยาถอนพิษไข้ พิษแอลกอฮอล์ พิษสำแดง บรรเทาอาการเมาค้าง บรรเทาอาการผื่นแพ้ เป็นยาแก้ร้อนใน กระหายน้ำได้ แล้วรู้ไหมว่า ยังมีงานวิจัยจากกลุ่มหมอพื้นบ้านพบว่า การนำรางจืดไปต้มแล้วนำมาอาบจะช่วยทำให้ผิวพรรณผุดผ่อง และหากนำรากรางจืดมาฝนกับน้ำซาวข้าวแล้วนำไปทาหน้า จะทำให้หน้าขาว ไม่มีสิวฝ้าอีกด้วย อุ้ย...สาว ๆ ยิ้มเลยทีนี้


กระวาน

กระวาน

กระวาน

          เป็นสมุนไพรไทยที่มีชื่อเสียงมากในต่างประเทศ มักพบขึ้นอยู่ตามป่าที่มีความชื้นสูง เช่น ป่าแถบเขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี รวมทั้งแถบจังหวัดตราด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีสรรพคุณหลัก ๆ คือ ใช้เป็นยาขับลม บำรุงธาตุ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ผสมในยาถ่ายเป็นใช้ช่วยถ่ายท้องได้

          นอกจากนั้น "ราก" ยังช่วยฟอกโลหิต แก้ลม รักษาโรครำมะนาด "เมล็ด" ช่วยบำรุงธาตุ แก้ธาตุพิการ "เหง้าอ่อน" ใช้รับประทานเป็นผัก "หัวและหน่อ" ช่วยขับพยาธิในเนื้อให้ออกทางผิวหนัง "แก่น" ใช้ขับพิษร้าน รักษาโรคโลหิตเป็นพิษ "กระพี้" รักษาโรคผิวหนัง บำรุงโลหิต ส่วน "ใบ" ใช้แก้ลมสันนิบาต ขับเสมหะ แก้ไข้เซื่องซึม แก้จุกเสียด บำรุงกำลัง "ผลแก่" มีรสเผ็ดร้อนและมีกลิ่นหอมคล้ายการบูร มีฤทธิ์ขับลม ยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรียบางชนิด

กานพลู

กานพลู

กานพลู

          ใครที่ปวดฟัน นี่คือสมุนไพรที่ช่วยรักษาอาการปวดฟันได้เป็นอย่างดี โดยตามตำรับยา ให้นำดอกที่ตูมไปแช่เหล้าขาว แล้วเอาสำลีไปชุบน้ำมาอุดรูฟัน จะช่วยบรรเทาอาการปวดฟันได้ เพราะน้ำมันหอมระเหยในกานพลูมีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ หรือจะเคี้ยวทั้งดอกแล้วอมไว้ตรงบริเวณที่ปวดฟันก็ได้ นอกจากนั้น ยังนำไปผสมน้ำเป็นน้ำยาบ้วนปาก ช่วยลดกลิ่นปาก แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้รำมะนาดได้

          กานพลูยังมีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ ฉะนั้น ใครที่มีอาการปวดท้อง กานพลู ก็ช่วยลดอาการปวดท้อง ขับลม ลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ จุกเสียดจากการย่อยอาหารได้ เพราะจะไปช่วยขับน้ำดีมาย่อยไขมันได้มากขึ้น แถมยังกระตุ้นการหลั่งเมือก และลดภาวะกรดเกินในกระเพาะอาหารได้ด้วย


หญ้าหนวดแมว

หญ้าหนวดแมว

หญ้าหนวดแมว

          ไม้ล้มลุกขนาดเล็กที่มีสรรพคุณไม่น้อย โดย "ราก" สามารถใช้ขับปัสสาวะได้ "ใบ" ใช้รักษาโรคไต ช่วยขับกรดยูริกออกจากไต รักษาโรคเบาหวาน อาการปวดหลัง ไขข้ออักเสบ ลดความดันโลหิต "ต้น" ก็ใช้แก้โรคไต ขับปัสสาวะได้เช่นกัน และยังช่วยรักษาโรคนิ่ว โรคเยื่อจมูกอักเสบได้ โดยนำต้นสด หรือต้นแห้ง หรือใบอ่อน หรือใบตากแห้ง ไปชงกับน้ำ 1 แก้ว ดื่มวันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร ห้ามนำไปต้ม และไม่ควรใช้ใบแก่ หรือใบสด เพราะมีฤทธิ์กดหัวใจ ทำให้ใจสั่นและคลื่นไส้ได้

          ข้อควรระวังก็คือ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ไต ห้ามรับประทาน เพราะในหญ้าหนวดแมวมีโพแทสเซียมสูงมาก และไม่ควรรับประทานหญ้าหนวดแมวร่วมกับแอสไพริน เพราะจะยิ่งทำให้ยาจำพวกแอสไพรินไปจับกล้มเนื้อหัวใจมากขึ้น


บัวบก


บัวบก

          หลายคนอาจเคยดื่มน้ำใบบัวบก ที่เมื่อดื่มเข้าไปแล้วช่วยแก้ร้อนใน แก้ช้ำใน ลดการกระหายน้ำได้ดีนักแล ซึ่งนอกจากใบบัวบกจะนำมาคั้นน้ำดื่มได้แล้ว ยังสามารถนำไปทาแผล ช่วยบรรเทาอาการฟกช้ำของแผลได้ด้วย เพราะในใบมีกรดมาดีคาสสิค (madecassic acid) และกรดเอเซียติก (asiatic acid) ที่มีฤทธิ์สมานแผน ไม่ว่าจะเป็นแผลสด แผลเรื้อรัง แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือแผลหลังผ่าตัด ใบบัวบกจะช่วยการอักเสบและทำให้แผลหายเร็วขึ้น

          นอกจากนั้น ใบบัวบกยังช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดเชื้อเป็นหนองในได้  วิธีการใช้ก็ง่าย ๆ นำใบบัวบกสดทั้งต้น 1 กำมือ ล้างน้ำให้สะอาด แล้วตำให้ละเอียด เอาน้ำมาทาบริเวณที่เป็นแผลเป็นบ่อย ๆ ใช้กากพอกด้วยก็ได้ จะช่วยลดอาการอักเสบและทำให้แผลหายเร็วขึ้น

          ส่วนต้นของใบบัวบก ก็มีสรรพคุณทางยามากมายไม่แพ้ใบ โดยสามารถใช้เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ แก้อ่อนเพลีย เมื่อยล้า แก้พิษงูกัด แก้ปวดศีรษะข้างเดียว ช่วยขับปัสสาวะ แก้เจ็บคอ ใช้เป็นยาห้ามเลือด ส่าแผลสด แก้โรคผิวหนัง ลดความดัน แก้ช้ำในได้เช่นกัน และถ้าใครชอบทำอาหาร อย่าลืมใส่ใบบัวบกลงผสมลงไปในเมนูของคุณด้วย เพราะในใบบัวบกมีสารอาหารเพียบ โดยเฉพาะวิตามินเอที่มีสูงมาก และยังให้คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามิน และไนอาซีน เรียกว่า คุณค่าครบเลยล่ะ

          จะเห็นได้ว่าสมุนไพรใกล้ตัวมากมายเหล่านี้มีประโยชน์อย่างที่นึกไม่ถึงมาก่อน แต่คำนึงไว้ด้วยว่า สมุนไพรจะรักษาโรคได้ต้องขึ้นอยู่กับวิธีการใช้สมุนไพรตามตำรับยาด้วย และที่สำคัญ คือสมุนไพรบางชนิดก็ไม่เหมาะกับคนที่ป่วยด้วยโรคบางประเภท หรือสตรีมีครรภ์ ดังนั้น ควรศึกษาข้อมูล และข้อควรระวังทุกครั้งก่อนจะใช้สมุนไพรจะดีที่สุดค่ะ 

http://health.kapook.com/view37827.html